วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ภาษาวรรณยุกต์


ภาษาวรรณยุกต์
          ภาษาไทยเป็นภาษาวรรณยุกต์ ภาษาวรรณยุกต์เป็นภาษาที่มีการไล่เสียงของคำ ในภาษาไทยมีการไล่เสียงวรรณยุกต์ หรือการผันวรรณยุกต์ ได้ ๕ เสียง ได้แก่ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา การที่ภาษาไทยผันไล่เสียงได้นี้ ทำให้มีคำใช้มากขึ้น การไล่เสียงสูง ต่ำ ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปด้วย เช่น มา  ม้า  หมา มีความหมายแตกต่างกัน  ถ้าออกเสียง คำว่า ม้า เป็น หมา  ความหมายก็จะเปลี่ยนไปด้วย

         นอกจากนี้ยังทำให้คำในภาษาไทยมีความไพเราะ เพราะระดับเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ของคำทำให้เกิดเป็นเสียงอย่างเสียงของดนตรี โดยที่เสียงวรรณยุกต์มีการแปรเปลี่ยนความถี่ของเสียง ได้แก่ เสียงวรรณยุกต์สามัญมีระดับเสียงกลาง ๆ และจะคงอยู่ระดับนั้นจนกระทั่งปลาย ๆ พยางค์  เสียงวรรณยุกต์เอกจะมีต้นเสียงกลาง ๆ แล้วจะลดต่ำลงมาอย่างรวดเร็วแล้วคงอยู่ในระดับนี้จนปลายพยางค์ เสียงวรรณยุกต์โทมีต้นเสียงระดับเสียงสูงแล้วลดระดับเสียงลงต่ำอย่างรวดเร็ว ที่ปลายพยางค์ หรืออาจจะเปลี่ยนสูงขึ้นจากระดับต้นพยางค์นิดหน่อย ก่อนจะลดระดับเสียงลงอย่างรวดเร็วก็ได้ เสียงวรรณยุกต์ตรีมีลักษณะเด่นที่มีระดับเสียงสูงโดยจะค่อย ๆ สูงขึ้นทีละน้อยจากต้นพยางค์จนสิ้นสุดพยางค์  และเสียงวรรณยุกต์จัตวามีต้นเสียงระดับเสียงต่ำแล้วลดลงเล็กน้อยก่อนจะ เปลี่ยนเสียงขึ้นอย่างรวดเร็วที่ปลายพยางค์


      วรรณยุกต์ของไทยมีคุณค่า ดังในบทประพันธ์ของอัจฉรา ชีวพันธ์ ที่กล่าวถึงคุณสมบัติของภาษาวรรณยุกต์ที่เป็นภาษาดนตรีมีความไพเราะ ทำให้เกิดคำใหม่มีความหมายใหม่ และการใช้เสียงวรรณยุกต์เน้น ช่วยเน้นย้ำความรู้สึกต่าง ๆ ของ การสื่อสารให้ชัดเจนมีชีวิตชีวามากขึ้น  ดังนี้

                             วรรณยุกต์ของไทยมีคุณค่า        ช่วยนำพาเสียงดนตรีดีไฉน
                     วรรณยุกต์ใช้เปลี่ยนปรับได้ฉับไว         ความหมายคำก็เปลี่ยนไปได้มากมาย
                     ตัวอย่างปาใส่ไม้เอกเสกเป็นป่า           แปลงเป็นป้าใช้ไม้โทก็เหลือหลาย
                     เสกสรรสร้างเสือ เสื่อ เสื้อได้ง่ายดาย    แสนสบายแสนเสนาะเหมาะเจาะดี
                     วรรณยุกต์สูงต่ำนำความรู้สึก               ล้วนล้ำลึกย้ำไปได้ศักดิ์ศรี
                     เช่น ต้าย-ตาย ว้าน-หวาน อีก ดี๊-ดี       ฮิ้ว-หิว ก็บ่งชี้ไปได้ชัดเจน

การเรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม

การเรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม


การเรียงคำแบบ  ประธาน กริยา กรรม
        
           ภาษาไทยเรียงคำแบบประธาน กริยา กรรม เมื่อนำคำมาเรียงกันเป็นประโยค
ประโยคทั่ว ๆ ไปในภาษาจะมีลักษณะสามัญ จะมีการเรียงลำดับ ดังนี้  นาม กริยา นาม นามที่อยู่หน้ากริยา เป็นผู้ทำกริยา มักอยู่ต้นประโยค ทำหน้าที่เป็นประธาน ส่วนคำนามที่บอกผู้รับกริยา มักอยู่หลังคำกริยานั้นทำหน้าที่เป็นกรรม ด้วยเหตุนี้ประโยคสามัญในภาษาไทยจึงมักเรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม   ด้วยเหตุนี้ประโยคสามัญในภาษาไทยจึงมักเรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม
นักภาษาศาสตร์จึงจัดให้ภาษาไทยอยู่ในประเภทภาษาที่เรียงคำแบบ ประธาน กริยา กรรม
      อย่างไรก็ดีมีประโยคในภาษาอยู่ไม่น้อยที่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนลำดับคำได้โดยไม่เปลี่ยนความหมาย

 ตัวอย่าง
                  ๑. ก. เขาเป็นญาติกับตุ้ม              ข. ตุ้มเป็นญาติกับเขา
                  ๒. ก. แม่เอาน้ำใส่กระติก              ข. แม่เอากระติกใส่น้ำ
                  ๓. ก. ดินเปื้อนกระโปรง                ข. กระโปรงเปื้อนดิน
                  ๔. ก. แดงและดำไปโรงเรียน         ข. ดำและแดงไปโรงเรียน
                  ๕. ก. ติ่งเหมือนต้อย                   ข. ต้อยเหมือนติ่ง
 ประโยค ก ในตัวอย่าง มีความหมายไม่ต่างกับ ประโยค ข ทั้ง ๆ ที่ลำดับคำต่างกัน

         นอกจากนี้บางประโยคอาจเปลี่ยนลำดับคำได้หลากหลายโดยที่ความหมายยังคงเป็นเช่นเดิม
 ตัวอย่าง
                 ๑. เขาน่าจะได้พบกับคุณเจตนาที่บ้านคุณพ่ออย่างช้าพรุ่งนี้
                 ๒. คุณเจตนาน่าจะได้พบเขาที่บ้านคุณพ่ออย่างช้าพรุ่งนี้
                 ๓. พรุ่งนี้อย่างช้าคุณเจตนาน่าจะได้พบเขาที่บ้านคุณพ่อ
                 ๔. อย่างช้าพรุ่งนี้เขาน่าจะได้พบกับคุณเจตนาที่บ้านคุณพ่อ
                 ๕. ที่บ้านคุณพ่อพรุ่งนี้อย่างช้าเขาน่าจะได้พบกับคุณเจตนา

       จะเห็นได้ว่าทุกประโยคสื่อความหมายอย่างเดียวกันไม่ว่าจะเป็นประโยค ใดก็บอกให้ทราบว่าผู้พบกัน คือ เขากับคุณเจตนา  สถานที่พบ คือ บ้านคุณพ่อ และเวลาที่พบ คือ พรุ่งนี้อย่างช้า สิ่งที่ต่างกันออกไปบ้างในประโยคทั้ง ๕ ประโยค คือ การเน้นผู้รับสาร จะรู้สึกได้ว่าคำที่อยู่ต้นหรือท้ายประโยคเป็นคำที่ผู้ส่งสารให้ความสำคัญมากกว่าคำที่อยู่กลาง ๆ ประโยค