ภาษาวรรณยุกต์
ภาษาวรรณยุกต์
ภาษาไทยเป็นภาษาวรรณยุกต์ ภาษาวรรณยุกต์เป็นภาษาที่มีการไล่เสียงของคำ ในภาษาไทยมีการไล่เสียงวรรณยุกต์ หรือการผันวรรณยุกต์ ได้ ๕ เสียง ได้แก่ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา การที่ภาษาไทยผันไล่เสียงได้นี้ ทำให้มีคำใช้มากขึ้น การไล่เสียงสูง ต่ำ ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปด้วย เช่น มา ม้า หมา มีความหมายแตกต่างกัน ถ้าออกเสียง คำว่า ม้า เป็น หมา ความหมายก็จะเปลี่ยนไปด้วย
นอกจากนี้ยังทำให้คำในภาษาไทยมีความไพเราะ เพราะระดับเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ของคำทำให้เกิดเป็นเสียงอย่างเสียงของดนตรี โดยที่เสียงวรรณยุกต์มีการแปรเปลี่ยนความถี่ของเสียง ได้แก่ เสียงวรรณยุกต์สามัญมีระดับเสียงกลาง ๆ และจะคงอยู่ระดับนั้นจนกระทั่งปลาย ๆ พยางค์ เสียงวรรณยุกต์เอกจะมีต้นเสียงกลาง ๆ แล้วจะลดต่ำลงมาอย่างรวดเร็วแล้วคงอยู่ในระดับนี้จนปลายพยางค์ เสียงวรรณยุกต์โทมีต้นเสียงระดับเสียงสูงแล้วลดระดับเสียงลงต่ำอย่างรวดเร็ว ที่ปลายพยางค์ หรืออาจจะเปลี่ยนสูงขึ้นจากระดับต้นพยางค์นิดหน่อย ก่อนจะลดระดับเสียงลงอย่างรวดเร็วก็ได้ เสียงวรรณยุกต์ตรีมีลักษณะเด่นที่มีระดับเสียงสูงโดยจะค่อย ๆ สูงขึ้นทีละน้อยจากต้นพยางค์จนสิ้นสุดพยางค์ และเสียงวรรณยุกต์จัตวามีต้นเสียงระดับเสียงต่ำแล้วลดลงเล็กน้อยก่อนจะ เปลี่ยนเสียงขึ้นอย่างรวดเร็วที่ปลายพยางค์
วรรณยุกต์ของไทยมีคุณค่า ดังในบทประพันธ์ของอัจฉรา ชีวพันธ์ ที่กล่าวถึงคุณสมบัติของภาษาวรรณยุกต์ที่เป็นภาษาดนตรีมีความไพเราะ ทำให้เกิดคำใหม่มีความหมายใหม่ และการใช้เสียงวรรณยุกต์เน้น ช่วยเน้นย้ำความรู้สึกต่าง ๆ ของ การสื่อสารให้ชัดเจนมีชีวิตชีวามากขึ้น ดังนี้
วรรณยุกต์ของไทยมีคุณค่า ช่วยนำพาเสียงดนตรีดีไฉน
วรรณยุกต์ใช้เปลี่ยนปรับได้ฉับไว ความหมายคำก็เปลี่ยนไปได้มากมาย
ตัวอย่างปาใส่ไม้เอกเสกเป็นป่า แปลงเป็นป้าใช้ไม้โทก็เหลือหลาย
เสกสรรสร้างเสือ เสื่อ เสื้อได้ง่ายดาย แสนสบายแสนเสนาะเหมาะเจาะดี
วรรณยุกต์สูงต่ำนำความรู้สึก ล้วนล้ำลึกย้ำไปได้ศักดิ์ศรี
เช่น ต้าย-ตาย ว้าน-หวาน อีก ดี๊-ดี ฮิ้ว-หิว ก็บ่งชี้ไปได้ชัดเจน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น